หน่วยงานภาครัฐมีมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างไร
คำตอบ
กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีกองทุนดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดตลาดภายใต้ FTA
กระทรวงพาณิชย์มีกองทุนเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความตกลง FTA อยู่ที่กรมการค้าต่างประเทศ มีการดำเนินการตั้งแต่ปี 2550 เพื่อช่วยเหลือการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า ให้ความช่วยเหลือในรูปแบบการศึกษาวิจัยและพัฒนา การจัดหาที่ปรึกษาเพื่อช่วยเหลือในการปรับปรุงธุรกิจ การฝึกอาชีพ และการจัดอบรมเสริมสร้างให้มีความรู้เพื่อการปรับตัว จนถึงปัจจุบัน มี 56 โครงการที่ได้รับอนุมัติคิดเป็นเงินรวม 408 ล้านบาท ตัวอย่างโครงการโคนมที่ผ่านมา เช่น โครงการวิจัยและพัฒนากลไกรองรับยุทธศาสตร์ด้านการตลาดนมโคสดแท้ โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และ บรรจุภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและพัฒนาระบบบริหารจัดการของสหกรณ์โคนมวาริชภูมิจำกัด และโครงการพัฒนานวัตกรรมการบริหารคุณภาพผลิตภัณฑ์นม
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถ การแข่งขันของประเทศ อยู่ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร มีวัตถุประสงค์เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนา ทดลองสาธิตนำร่อง ให้ความรู้ฝึกอบรมดูงาน สนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ลงทุนก่อสร้างโรงเรือน เครื่องมือ เครื่องจักร และเงินทุนหมุนเวียนการผลิต โดยตั้งแต่ปีงบประมาณ 2549-2560 กองทุนฯ ได้อนุมัติจัดสรรเงินเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจาก FTA ไปแล้ว 25 โครงการ 10 ชนิดสินค้า ได้แก่ ข้าว ปาล์มน้ำมัน กาแฟ ชา มะพร้าว พริกไทย พืชผัก โคนม โคเนื้อ และสุกร เป็นเงิน 762.20 ล้านบาท มีเกษตรกรได้รับประโยชน์ ประมาณ 1 แสนราย ตัวอย่างโครงการโคนมที่ได้รับความช่วยเหลือ เช่น โครงการลดต้นทุนและปรับปรุงประสิทธิภาพการเลี้ยงโคนมด้วยวิธีปฏิบัติได้และเห็นผลจริง โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โครงการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มมูลค่าโคนมและผลิตภัณฑ์นมของสหกรณ์โคนม บ้านบึงจำกัด โครงการนำร่องการเลี้ยงโคนมทดแทนในระบบชีวภาพ (หรือวัวหลุม) โครงการเพิ่มศักยภาพ การเลี้ยงโคนมเพื่อรองรับเขตการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ และโครงการสร้างความมั่นคงทางอาหารหยาบให้กับโคนมด้วยหญ้าเนเปียร์ปากช่อง