Loading
Header Image
ฐานข้อมูลคำถาม-คำตอบ
คำถามที่พบบ่อย
ASEAN
AEC 2025 อะไรจะเกิดขึ้นกับประเทศไทย และจะปรับตัวอย่างไร

คำตอบ
แม้ว่าอาเซียนจะประกาศการจัดตั้ง AEC อย่างเป็นทางการแล้ว (เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2558) แต่การรวมกลุ่มของอาเซียนมิได้มีจุดสิ้นสุดเพียงเท่านี้ ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 27 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 ผู้นำอาเซียนได้ให้การรับรองแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2025 (AEC Blueprint 2025) ซึ่งเป็นแผนงานฉบับใหม่ที่กำหนดทิศทางการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียนในระยะ 10 ปี (พ.ศ. 2559-2568/ค.ศ. 2016-2025) ซึ่งอาเซียนจะรวมตัวกันมากขึ้นทั้งเชิงกว้างและเชิงลึก โดยเป็นการต่อยอดจากแผนงานการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2015

1) แผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2025 (AEC Blueprint 2025) ครอบคลุมการดำเนินการตาม 5 องค์ประกอบหลัก ประกอบด้วย
(1) เศรษฐกิจที่มีการรวมตัวและเชื่อมโยงในระดับสูง (A Highly Integrated and Cohesive Economy) มุ่งเน้นการเปิดเสรีสินค้าโดยลดภาษีสินค้าเพิ่มเติม ยกเลิก/ลดมาตรการที่มิใช่ภาษี การอำนวยความสะดวกทางการค้า ปรับปรุงกระบวนการพิธีการศุลกากร และขยายสาขาผลิตภัณฑ์ที่จะมีการปรับประสานมาตรฐานให้สอดคล้องกัน การเปิดเสรีบริการที่กว้างและลึกขึ้น การคุ้มครองการลงทุนให้เข้มแข็งขึ้นและสร้างความโปร่งใสทางกฎหมาย/กฎระเบียบ
(2) อาเซียนที่มีความสามารถในการแข่งขัน มีนวัตกรรม และมีพลวัต (Competitive, Innovative and Dynamic ASEAN) มุ่งเน้นการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันนวัตกรรมและประสิทธิภาพการผลิตของภูมิภาค เพื่อเสริมสร้างความพร้อมในการรองรับการเปลี่ยนแปลง อาทิ การใช้บังคับกฎหมายและนโยบายการแข่งขันของประเทศสมาชิก การยึดหลักธรรมาภิบาลโดยเสริมสร้างความโปร่งใสของภาครัฐ และการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน
(3) การส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจ และความร่วมมือรายสาขา (Enhanced Connectivity and Sectoral Cooperation) อาทิ เชื่อมโยงการขนส่งในภูมิภาค โทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ พลังงาน การเงิน รวมทั้งส่งเสริมให้มีการรวมตัวรายสาขาที่ลึกซึ้งมากขึ้น อาทิ อาหาร เกษตรและป่าไม้ การท่องเที่ยว สุขภาพ เหมืองแร่ รวมถึงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีซึ่งเป็นสาขาใหม่ที่เพิ่มเข้ามา
(4) การครอบคลุมทุกภาคส่วน ยืดหยุ่น มุ่งเน้นประชาชน มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง (Resilient, Inclusive, People-Oriented and People-Centered ASEAN) โดยมุ่งสร้างความเข้มแข็งแก่ MSMEs การเพิ่มบทบาทและการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public-Private Partnership) การลดช่องว่างการพัฒนา การเข้าถึงแหล่งเงินอย่างทั่วถึง และการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภาคประชาสังคม
(5) การเป็นส่วนสำคัญของประชาคมโลก (A Global ASEAN) การบูรณาการภูมิภาคเข้าสู่เศรษฐกิจโลกให้มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยให้มีการทบทวน/ปรับปรุงความตกลงการค้าเสรีของอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา (จีน เกาหลี ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์) การเจรจา RCEP เพื่อให้ได้ข้อสรุป การขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ทั้งในระดับภูมิภาคและโลก การเพิ่มบทบาทของอาเซียนในเวทีองค์กรด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศเพื่อสะท้อนถึงผลประโยชน์ของอาเซียน

2) โอกาสและความท้าทายจาก AEC
โอกาส การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนำมาซึ่งโอกาสทางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน อันเป็นผลจากการเป็นตลาดเดียวกันและฐานการผลิตร่วมกัน การลด/ยกเลิกอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาด ทั้งด้านภาษีและมาตรการที่มิใช่ภาษี รวมถึง การยกระดับการส่งเสริมความร่วมมือเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน โดยภาพรวมแล้วประเทศไทยจะได้รับโอกาสและประโยชน์จากการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ดังนี้
(1) ผู้ประกอบการสามารถใช้ประโยชน์จาก Supply Chain ในอาเซียน
– นำเข้าสินค้าและวัตถุดิบในอาเซียนในราคาถูกลง คุณภาพดีขึ้น จากการยกเลิกกำแพงภาษีและที่มิใช่ภาษีระหว่างกัน ซึ่งช่วยสร้างความได้เปรียบด้านต้นทุนของสินค้าและบริการ เมื่อเทียบกับประเทศนอกอาเซียน
– ย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอาเซียนอื่นที่มีความได้เปรียบในด้านปัจจัยการผลิตต่างๆ เช่น ทรัพยากรธรรมชาติและแรงงานในกัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม เทคโนโลยีและการบริหารจัดการในสิงคโปร์และมาเลเซีย เป็นต้น
(2) สามารถขยายการส่งออกสินค้าไทยในอาเซียนได้เพิ่มขึ้น ไม่ใช่จำหน่ายเฉพาะตลาดภายในประเทศที่มีประชากร 69 ล้านคน แต่จะเพิ่มสูงถึงกว่า 600 ล้านคนในตลาดอาเซียน
(3) ผู้ประกอบการสามารถใช้ประโยชน์จากระบบการขนส่งและโลจิสติกส์ที่สะดวกและมีค่าใช้จ่ายที่ลดลงจากความร่วมมือด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของอาเซียน
(4) บริษัทไทยสามารถเข้าไปจัดตั้งธุรกิจหรือไปให้บริการในประเทศอาเซียนอื่นได้ง่ายขึ้น จากการลดอุปสรรค/ข้อจำกัดด้านการค้า บริการ และการลงทุนของอาเซียน
(5) SME ได้รับความสำคัญเพิ่มขึ้น จากการริเริ่มแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา SME ของอาเซียน ซึ่งมีเป้าหมายให้ SME ในอาเซียนสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก โดยเน้นเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การพัฒนาบุคลากร และการอำนวยความสะดวกด้านการเข้าถึงแหล่งข้อมูลทางการค้าและการลงทุน และเทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการกระจายรายได้ที่เสมอภาคมากยิ่งขึ้น
(6) มีการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่ระหว่างประเทศสมาชิก ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและการบริหารจัดการ ยกระดับคุณภาพสินค้าและบริการของไทยสู่มาตรฐานสากล
(7) บุคลากรวิชาชีพมีโอกาสเข้าไปทำงานในประเทศอาเซียนอื่นได้สะดวกมากขึ้น จากข้อตกลง การยอมรับร่วมด้านวิชาชีพของอาเซียน ซึ่งได้จัดทำเสร็จแล้ว 8 สาขา ได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ วิศกร สถาปนิก ช่างสำรวจ พยาบาล นักบัญชีและบุคลากรด้านการท่องเที่ยว
(8) ประชาชนไทยมีโอกาสเลือกซื้อสินค้าและบริการที่มีคุณภาพและความหลากหลายมากขึ้นในราคาที่เป็นธรรมจากการที่มีสินค้าหลากหลายเข้ามาทำให้มีการแข่งขันในตลาดเพิ่มขึ้น รวมทั้ง จะได้รับความคุ้มครองจากการบริโภคสินค้าและบริการของประเทศอาเซียนมากขึ้นจากความร่วมมือด้านการคุ้มครองผู้บริโภคของอาเซียน
(9) การรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนจะช่วยเสริมสร้างอำนาจการต่อรองของไทยในเวทีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่ออาเซียนมีการรวมกลุ่มที่ชัดเจนและเข้มแข็งจะสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาคมโลก และทำให้ไทยสามารถผลักดันประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยผ่านทางเวทีอาเซียน
(10) อาเซียนมีการเชื่อมโยงกับประเทศภายนอก มีการขยายการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจโดยทำ FTA กับประเทศนอกภูมิภาค เป็นการเพิ่มโอกาสการค้าและการลงทุนให้กับประเทศไทยในตลาดของคู่เจรจาของอาเซียน เช่น จีน อินเดีย เป็นต้น

ความท้าทาย
ในขณะเดียวกันการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนำมาซึ่งความท้าทาย ซึ่งทั้งภาคธุรกิจและภาคประชาชนจะต้องเตรียมพร้อมรับมือ ดังนี้
(1) ผู้ประกอบการไทยอาจจะต้องเผชิญกับสภาวะการแข่งขันทางธุรกิจที่รุนแรง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับตัวและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของตนเอง โดยเริ่มจากการสำรวจจุดแข็ง/จุดอ่อนของตนเองศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคในตลาดเป้าหมาย เพิ่มการลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมสินค้าและบริการให้เป็นที่ต้องการของตลาด มองหาพันธมิตรทางธุรกิจที่เชื่อถือได้ รวมทั้งศึกษาข้อมูลที่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจเพื่อให้สามารถแข่งขันกับตลาดที่มีการเปิดเสรีทางการค้าได้
(2) แรงงานมีฝีมือจากกลุ่มประเทศอาเซียนมีโอกาสเข้ามาทำงานในไทยมากขึ้น แรงงานไทยจึงจำเป็นต้องเพิ่มทักษะ ความเชี่ยวชาญและพัฒนาความรู้ความสามารถ โดยเฉพาะด้านภาษาต่างประเทศและเทคโนโลยี เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของตนเองให้สามารถแข่งขันในตลาดแรงงาน และใช้ประโยชน์จากการเปิดเสรีด้านแรงงานในอาเซียนได้

3) การปรับตัวเพื่อรับกับ AEC
(1) ปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลง ควรเริ่มจากการสำรวจจุดแข็งและจุดอ่อนของกิจการของตัวเองว่ามีข้อเสียเปรียบอะไร มีจุดแข็งอะไร เราจะก้าวไปสู่ธุรกิจ/อุตสาหกรรมอื่นหรือจะต่อยอดจากธุรกิจ/อุตสาหกรรมเดิม ศึกษาข้อมูลและมองหาโอกาสทางธุรกิจให้มากขึ้น เช่น การมองหาธุรกิจใหม่ๆ การออกงานแสดงสินค้าที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการเป็นที่รู้จักและมีโอกาสที่จะได้พบกับพันธมิตรทางธุรกิจเพิ่มขึ้น หรือการปรึกษากับหน่วยงานไทยที่ให้การสนับสนุนข้อมูล เป็นต้น
(2) เร่งศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคทุกกลุ่มในอาเซียน ทั้งในอาเซียนและประเทศนอกกลุ่ม โดยอาจเริ่มจากประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ในเรื่องกฎ ระเบียบ ประเพณี ค่านิยม และศาสนา ใช้กลยุทธ์เชิงรุกเจาะตลาดผู้ซื้อ และใช้ประโยชน์จาก AEC เช่น ศึกษา/เสาะหาแหล่งวัตถุดิบในอาเซียนที่มีความได้เปรียบด้านราคาและคุณภาพ โดยการนำเข้ามาผลิต หรือการขยายฐานการผลิต
(3) การออกไปประกอบธุรกิจหาคู่ค้าหรือผู้ร่วมลงทุนที่เชื่อถือได้ ต้องเข้าใจยุทธศาสตร์ของแต่ละประเทศว่าโดดเด่นในด้านใดบ้าง เหมาะสมกับธุรกิจที่จะเข้าไปทำหรือไม่ และทำความรู้จักกับคู่ค้าหรือวงการค้าในประเทศนั้นๆ โดยหาช่องทางสร้างเครือข่ายธุรกิจ การประกอบกิจการกับผู้ประกอบการของประเทศอาเซียน เพื่อที่จะสร้างความร่วมมือกันในด้านต่างๆ เพื่อประโยชน์ร่วมกันในทางธุรกิจ
(4) เตรียมความพร้อมด้านความรู้เกี่ยวกับการทำการค้า เช่น การขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าเพื่อขอรับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร การตรวจคุณสมบัติทางด้านถิ่นกำเนิดสินค้า เป็นต้น รวมทั้งติดตามข่าวสารอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถปรับตัวได้ทันกับการเปลี่ยนแปลง พัฒนาตนเองอย่างเป็นระบบทั้งด้านการบริหารจัดการ ประสิทธิภาพการผลิต/การให้บริการ การออกแบบผลิตภัณฑ์ การสร้างตราสินค้า และการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงการเชื่อมโยงแบบคลัสเตอร์ระหว่างผู้ประกอบการขนาดใหญ่กับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมตามกลุ่มธุรกิจในห่วงโซ่มูลค่า (Value Chain) เพื่อให้สามารถก้าวสู่เวทีการแข่งขันในระดับภูมิภาคอาเซียนและระดับโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ พัฒนาและส่งเสริมทักษะในด้านต่างๆ ทั้งในด้านวิชาชีพและภาษาโดยเฉพาะภาษาอังกฤษและภาษาในกลุ่มอาเซียนที่จะสร้างความได้เปรียบให้แก่ผู้ประกอบการ

ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการยังไม่มีแผนที่จะออกไปบุกตลาด ควรเตรียมการรับมือผู้ประกอบการในอาเซียนที่จะเข้ามาแข่งขัน โดยต้องรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าเก่า ลดต้นทุนการผลิตให้แข่งขันได้ รวมทั้ง ควรจะรวมกลุ่มผู้ผลิตในกลุ่มสินค้าเดียวกันให้มีขนาดใหญ่เพื่อให้ผลิตสินค้าได้มากขึ้น สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน และสร้างมูลค่าเพิ่ม

กรณีประชาชนต้องการสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับอาเซียนหรือ AEC เช่น ข้อมูลกฎหมาย/กฎระเบียบด้านการค้าสินค้าของอาเซียน ข้อมูลอัตราภาษีภายใต้ AEC และภาษีที่ลดระหว่างอาเซียนกับประเทศที่อาเซียนจัดทำ FTA ทั้ง 5 ความตกลง ได้แก่ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น อินเดีย แ

คำตอบ
สามารถแนะนำเว็บไซต์เครื่องมือการใช้ประโยชน์จาก AEC สำหรับผู้ประกอบการไทยได้ ดังต่อไปนี้


คลังข้อมูลทางการค้าของไทย (Thailand National Trade Repository: NTR)

ประเทศไทยได้จัดตั้งคลังข้อมูลทางการค้าของไทย ผ่านทาง www.thailandntr.com เพื่อเผยแพร่ข้อมูล/กฎหมาย/กฎระเบียบด้านการค้าสินค้าบนอินเทอร์เน็ตแก่สาธารณชน เพื่อความโปร่งใสและให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้โดยง่าย


คลังข้อมูลการค้าของอาเซียน (ASEAN Trade Repository: ATR)

อาเซียนได้จัดทำระบบ ATR เพื่อรวบรวมข้อมูลทางการค้าของประเทศสมาชิกอาเซียน โดยเผยแพร่ผ่านระบบอินเตอร์เน็ตและเชื่อมโยงกับ NTR ของทุกประเทศสมาชิกอาเซียน ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SMEs สามารถใช้ประโยชน์จากเว็บไซต์ดังกล่าวผ่านทาง atr.asean.org


ระบบแอสซีส (ASEAN Solutions for Investments, Services and Trade: ASSIST)

เป็นช่องทางออนไลน์ให้ภาคธุรกิจในอาเซียนสามารถหารือกับภาครัฐของสมาชิกในการแก้ไขปัญหาทางการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุนในกรอบอาเซียน ซึ่งในชั้นต้นครอบคลุมเฉพาะปัญหาด้านการค้าสินค้า และจะขยายให้ครอบคลุมถึงด้านการค้าบริการและการลงทุนในลำดับต่อไป ซึ่งภาคเอกชนสามารถสอบถามหรือแจ้งปัญหาการดำเนินธุรกิจต่อรัฐบาลประเทศสมาชิกอาเซียนผ่านทางเว็บไซต์ asean.org


Tariff Finder อาเซียนได้จัดทำระบบ Tariff Finder (tariff-finder.asean.org) ซึ่งรวบรวมฐานข้อมูลภาษีที่อาเซียนลดให้แก่กันภายใต้ AEC และภาษีที่ลดระหว่างอาเซียนกับประเทศที่อาเซียนจัดทำ FTA ทั้ง 5 ความตกลง ได้แก่ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ซึ่งผู้ประกอบการสามารถเข้าไปสืบค้นข้อมูลอัตราภาษีภายใต้ FTA ดังกล่าวได้สะดวก โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย


ระบบการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของไทย (National Single Window: NSW) และระบบการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน (ASEAN Single Window: ASW)

ระบบ National Single Window (NSW) เป็นระบบการบริการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์แบบไร้เอกสาร โดยการใช้เอกสารเพียงชุดเดียวในการดำเนินการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานด้านศุลกากรของประเทศในการอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศ  ทั้งการนำเข้า ส่งออก และการเคลื่อนย้ายสินค้าผ่านแดน หรือระบบโลจิสติกส์ โดยผู้ประกอบการนำเข้า ส่งออก และโลจิสติกส์ สามารถทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์กับหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจแบบปลอดภัยและไร้เอกสาร เช่น การจัดเตรียมข้อมูลเพียงครั้งเดียวในการขอใบอนุญาตและใบรับรองทางอิเล็กทรอนิกส์ และการปฏิบัติพิธีการศุลกากร ใบขนสินค้าและชำระค่าภาษีอากรแบบอัตโนมัติ การใช้ข้อมูลร่วมกันกับทุกองค์กรที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเชื่อมโยงข้อมูลใบอนุญาตและใบรับรองระหว่างหน่วยงานภาครัฐภายในประเทศ และการเชื่อมโยงข้อมูลภาคธุรกิจระหว่างประเทศ โดยให้บริการผ่านเว็บไซต์ www.thainsw.net

ทั้งนี้ การจัดตั้งระบบ NSW ของประเทศไทยขึ้น เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลไปสู่ระบบการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน หรือ ASEAN Single Window ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการที่จะนำเข้าและส่งออกได้แบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว โดยจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจของประเทศสมาชิกอาเซียน ทางอิเล็กทรอนิกส์แบบ ปลอดภัยและไร้เอกสาร ผ่านเว็บไซต์ asw.asean.org

ภูมิภาค RCEP มีความสำคัญอย่างไรต่อไทย

คำตอบ

สมาชิก 16 ประเทศมีประชากรรวมกันกว่า 3,500 ล้านคน ครึ่งหนึ่งของประชากรโลก มี GDP รวมกันกว่า 23.77 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 29  ของ GDP โลก มีมูลค่าการค้ารวม 9.77 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 29 ของมูลค่าการค้าโลก โดยแบ่งเป็นมูลค่าการส่งออก 5.16 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ  คิดเป็นร้อยละ 31 ของมูลค่าการส่งออกของโลก เป็นมูลค่าการนำเข้า 3.33 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 21 ของมูลค่าการนำเข้าของโลก

ไทยมีมูลค่าการค้ารวมกับสมาชิก RCEP ในปี 2559 2.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 59.32 ของมูลค่าการค้าไทยกับโลก โดยแบ่งเป็นมูลค่าการส่งออก  1.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 55.71 ของมูลค่าการส่งออกของไทยไปโลก สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ยางพารา เครื่องจักรกล และส่วนประกอบของเครื่องจักรกล เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เป็นมูลค่าการนำเข้า 1.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ  คิดเป็นร้อยละ 63.32 ของมูลค่าการนำเข้าของไทยจากทั่วโลก สินค้านำเข้าสำคัญ เช่น เครื่องจักรกล และส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันดิบ สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า

ความตกลง RCEP จะมีประโยชน์ต่อการค้า การลงทุนของไทยอย่างไร

คำตอบ

1) ผลักดันให้มีการลดความซ้ำซ้อนในเรื่องกฎถิ่นกำเนิดสินค้า

เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการปรับแผนการผลิต เลือกสรรหาแหล่งวัตถุดิบได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และส่งผลให้ผู้ประกอบการวางยุทธศาสตร์การลงทุนในประเทศที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อภาคการผลิตของตน

2) ผลักดันในเรื่องกฎระเบียบการค้า มาตรฐานสินค้า มาตรฐานด้านสุขอนามัย ให้มีความสอดคล้องกันในภูมิภาค

ซึ่งจะส่งผลให้มีการยอมรับกฎเกณฑ์ของมาตรการด้านมาตรฐานต่างๆ ระหว่างกันมากขึ้นซึ่งส่งเสริมให้การค้าขายขยายตัวขึ้น

3) ผลักดันให้ประเทศคู่เจรจามีการเปิดตลาดให้ไทยมากขึ้นเดิมจากความตกลงอาเซียน+1

ในกรอบ RCEP มีสมาชิกยักษ์ใหญ่ คือ จีนและอินเดียทำให้เกิดโอกาสทางการค้าของไทยในการส่งออกสินค้า บริการ และการลงทุนที่ไทยมีศักยภาพ เพราะเป็นประเทศมีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง และเป็นฐานการผลิตของโลก

4) กระตุ้นให้ผู้ประกอบการไทยให้มีการพัฒนาปรับตัวเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ขยายฐานการลงทุนไปในภูมิภาค และดึงดูดการลงทุน และกระตุ้นส่งเสริมการใช้สิทธิประโยชน์ของผู้ประกอบการจากความตกลง RCEP

ความตกลง RCEP ทำให้ไทยสามารถขยายเครือข่ายภาคการผลิตและการกระจายสินค้า (production and distribution network): เพราะสามารถหาวัตถุดิบจาก 16 ประเทศซึ่งมีความหลากหลายทั้งเชิงคุณภาพและราคา ทำให้ภาคการผลิตของไทยสามารถเลือกแหล่งวัตถุดิบหลากหลายมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันกระบวนการผลิตสินค้าเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม  ผู้ผลิตจำเป็นต้องแสวงหาแหล่งวัตถุดิบและคำนึงถึงการเลือกแหล่งผลิตที่เหมาะสมซึ่งแหล่งวัตถุดิบเหล่านั้นได้อยู่กระจายไปทั่วโลกหรือทั่วภูมิภาค ดังนั้น การเข้าใจถึงโครงสร้างของสินค้าสำคัญ รวมถึง แหล่งที่มาของวัตถุดิบในสินค้าที่ผลิตในประเทศไทยจะทำให้ประเทศไทยสามารถกำหนดท่าทีในการเจรจาเรื่องกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าที่เอื้อต่อภาคการผลิตสินค้าของไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สินค้าและบริการที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์

สินค้าที่ไทยคาดว่าจะได้รับประโยชน์ ได้แก่ เครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยานพาหนะ ผลไม้แปรรูป อาหารแปรรูป เป็นต้น

สาขาบริการที่ไทยคาดว่าจะได้รับประโยชน์ เช่น  โรงแรม สปา ร้านอาหารไทย

สาขาการลงทุนที่ไทยคาดว่าจะได้รับประโยชน์ เช่น คนไทยอาจไปลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตสินค้าทั้งสินค้าอุตสาหกรรมและเกษตรแปรรูปในประเทศสมาชิก RCEP

สำหรับธุรกิจที่มีสินค้าและบริการที่จะได้รับประโยชน์จากการเจรจาความตกลง RCEP นี้ควรเตรียมความพร้อมเรื่องอะไรบ้าง

คำตอบ

สำหรับธุรกิจที่ต้องการได้รับประโยชน์จากความตกลง RCEP หรือความตกลง FTAs ที่ไทยมีอยู่แล้ว 12 ฉบับ กับ 17 ประเทศ นอกเหนือจากการพัฒนาสินค้าและบริการที่ตรงกับความต้องการของลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย ปรับปรุงกระบวนการผลิต ขั้นตอนต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นปกติของการดำเนินธุรกิจ จะขอเชิญชวนให้ผู้ประกอบการ เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่จัดโดยหน่วยงานของกระทรวงพาณิชย์ เช่น การสัมมนา การฝึกอบรม งานแสดงสินค้า เป็นต้น รวมถึงศึกษาข้อมูลต่างๆ ที่สามารถค้นหาได้บนเว็บไซต์ของกรมต่างๆ เช่น ข้อมูลตลาด สินค้า บริการ และการลงทุน ของประเทศคู่ค้าซึ่งกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ มีการรวบรวมจัดทำขึ้น กระบวนการขอใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าเพื่อใช้ประโยชน์จากความตกลง FTAs มาตรการทางการค้าของประเทศคู่ค้า ของกรมการค้าต่างประเทศ ข้อมูลภาพรวมการเจรจาการค้า  การจัดทำความตกลงทางการค้า ของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป็นต้น

โอกาสทางธุรกิจในตลาด CLMV

คำตอบ

ต้องยอมรับว่าปัจจุบันตลาด CLMV หรือ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม เป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตสูงมาก โดยมี GDP ในแต่ละประเทศเติบโตสูงถึงร้อยละ 8 ต่อปี นักลงทุนต่างชาติรวมทั้งไทยเข้าไปลงทุนจำนวนมาก ประชากรมีกำลังซื้อสูง และรัฐบาลสนับสนุนนโยบายส่งเสริมการค้าการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ทำให้โอกาสทางธุรกิจในตลาด CLMV มีลู่ทางสดใส ทั้งนี้ เนื่องจากกลุ่มประเทศ CLMV เพิ่งเป็นตลาดใหม่ สำหรับสินค้าที่เป็นที่ต้องการจากไทยในช่วงนี้จะมีความคล้ายกันคือสินค้าอุปโภคบริโภค วัสดุก่อสร้าง อาหารแปรรูป และผักผลไม้สด เนื่องจากสินค้าไทยมีคุณภาพและมีราคาที่เหมาะสม สำหรับโอกาสการลงทุนของไทยในกลุ่มประเทศดังกล่าว เช่น ธุรกิจร้านอาหาร อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมก่อสร้าง และธุรกิจพลังงาน เนื่องจากไทยมีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์สูง ขณะเดียวกัน กลุ่มประเทศ CLMV มีความต้องการพัฒนาประเทศและเป็นธุรกิจการลงทุนที่ในประเทศเหล่านี้ยังขาดแคลน ดังนั้น การเข้าไปของนักลงทุนไทยจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจระหว่างกันได้เป็นอย่างดี

เมืองใดเหมาะแก่การเข้าไปลงทุนใน CLMV

คำตอบ

การเข้าไปลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMV ควรเริ่มต้นจากเมืองหลวงก่อน คือ กรุงพนมเปญ (ในกัมพูชา) และนครหลวงเวียงจันทน์ (ในสปป.ลาว) และเมืองเศรษฐกิจอันดับ 1 คือ เมืองย่างกุ้ง (ในเมียนมา) และเมือง   โฮจิมินห์ (ในเวียดนาม) เนื่องจากเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจการค้า การลงทุน มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน (ทั้งไฟฟ้า ประปา โทรคมนาคม) มีจำนวนประชากรมากและมีกำลังซื้อสูง ทั้งนี้ ผู้ประกอบการอาจเผชิญกับคู่แข่งจำนวนมากในเมืองเศรษฐกิจเหล่านี้ด้วยเช่นกัน  ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการอาจเลือกลงทุนในเมืองเศรษฐกิจรองที่มีการแข่งขันทางธุรกิจไม่สูงมากนัก และ เช่น เมืองเสียมราฐ เมืองพระตะบอง (ในกัมพูชา) เมืองหลวงพระบาง และเมืองจำปาสัก (ในสปป.ลาว) เมืองมัณฑะเลย์ และเมืองเมาะลำไย (ในเมียนมา) กรุงฮานอย และเมืองดานัง (ในเวียดนาม)

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการอาจพิจารณาถึงประเภทของธุรกิจที่จะเข้าไปในลงทุนให้เหมาะสมกับเมือง  ซึ่งจะยิ่งช่วยทำให้ผู้ประกอบการได้ประโยชน์ทางธุรกิจเพิ่มขึ้น เช่น ธุรกิจเกษตรและเกษตรแปรรูป เหมาะแก่การเข้าไปลงทุนในเมืองจำปาสัก (ในสปป.ลาว) และเมืองพระตะบอง (ในกัมพูชา) เนื่องจากเป็นแหล่งเกษตรกรรมหลักของประเทศ หรือธุรกิจร้านอาหารและบริการท่องเที่ยว ควรไปลงทุนในแหล่งท่องเที่ยวและเมืองหลวง เช่น เมืองเสียมราฐและกรุงพนมเปญ (ในกัมพูชา) เมืองมัณฑะเลย์ เมืองย่างกุ้ง และเมืองพุกาม    (ในเมียนมา) เมืองฮานอย เมืองโฮจิมินห์ เมืองดานัง เมืองเว้ (ในเวียดนาม)

ขอทราบกฎระเบียบการนำเข้าสินค้าในเมียนมา

คำตอบ

ก่อนที่จะนำเข้าสินค้าในเมียนมา ผู้นำเข้าต้องแน่ใจว่า สินค้านั้น ไม่เป็นประเภทสินค้าต้องห้าม ซึ่งควรจะตรวจสอบกฎหมายและกฎระเบียบที่ควบคุมสินค้านำเข้าให้ชัดเจน โดยทั่วไปแล้วสินค้าที่ห้ามนำเข้าจะคล้ายคลึงในประเทศต่างๆ ซึ่งจะเป็นเหตุผลด้านความมั่นคงของประเทศ การเป็นอันตรายต่อสุขภาพและอนามัย การทำลายศีลธรรมอันดีของสังคม และทำลายสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ เช่น ยาเสพติด สื่อลามกอนาจาร อาวุธ เป็นต้น  นอกจากนี้ ต้องตรวจสอบในกฎหมายและกฎระเบียบของเมียนมาว่าสินค้านั้น ต้องขออนุญาตนำเข้าหรือไม่ ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่ที่ต้องขออนุญาตนำเข้า เช่น สินค้าเกษตร วัสดุก่อสร้าง แร่และผลิตภัณฑ์จากแร่ และน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น โดยขอให้ตรวจสอบพิกัดศุลกากรของสินค้า ซึ่งสามารถตรวจสอบได้จากกรมศุลกากร หรือผ่าน www.customs.go.th ตรวจสอบสิทธิประโยชน์ทางการค้าในการนำเข้าในเมียนมา เช่น เป็นสินค้าที่ผลิตในอาเซียนรวมทั้งไทยหรือไม่ เพื่อใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีใน AFTA  หรือสิทธิประโยชน์ทางการค้า FTA  ของเมียนมากับประเทศอื่น สำหรับในส่วนสินค้าที่ผลิตในอาเซียนและไทยตามหลักเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้า สามารถตรวจสอบอัตราภาษีศุลกากรและสิทธิประโยชน์ทางภาษีได้ และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากกรมการค้าต่างประเทศ หรือ www.dft.go.th และ กรมศุลกากร หรือผ่าน www.customs.go.th

FTA
ความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Area: FTA) หมายถึงอะไร

คำตอบ

ความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Area : FTA) เป็นการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นความตกลงระหว่างประเทศ จะเป็น 2 ประเทศ หรือมากกว่านั้นก็ได้ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อลดอุปสรรคทางการค้าทั้งในด้านภาษีและที่ไม่ใช่ภาษีระหว่างกันให้เหลือน้อยที่สุด ปัจจุบัน ประเทศต่างๆ ได้ขยายขอบเขตของ FTA ให้ครอบคลุมทั้งด้านการเปิดเสรีสินค้า บริการ และการลงทุน ตลอดจนประเด็นใหม่ๆ ทางการค้า เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ นโยบายการแข่งขัน สิ่งแวดล้อม และแรงงาน เป็นต้น

ปัจจุบัน ไทยมีความตกลงการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ แล้วกี่ฉบับ

คำตอบ

ปัจจุบัน ไทยมีข้อตกลง FTA ที่มีผลบังคับใช้แล้วจำนวน 14 ฉบับ กับคู่ภาคี 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 9 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู และฮ่องกง

หากต้องการทราบสถานะล่าสุดของการเจรจา FTA แต่ละฉบับของไทยสามารถสืบค้นได้จากที่ใด

คำตอบ

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้จัดทำข้อมูลสรุปความคืบหน้าการเจรจา FTA ของไทยในทุกกรอบการเจรจาและเผยแพร่ให้กับบุคคลทั่วไป โดยสามารถดูข้อมูลดังกล่าวได้ที่เว็บไซต์กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

www.dtn.go.th > เวทีการเจรจาการค้า > FTAs > ภาพรวม FTA ของไทย > ความคืบหน้า FTA ทุกเวที

ผู้ประกอบการสามารถสืบค้นข้อมูลอัตราภาษีภายใต้ FTA ทั้งของไทยและประเทศคู่เจรจาได้จากที่ใด

คำตอบ

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้จัดทำระบบสิทธิประโยชน์ทางภาษี ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการในการสืบค้นและเปรียบเทียบอัตราภาษีภายใต้ FTA ทั้งของไทยและประเทศคู่เจรจาได้อย่างสะดวกและรวดเร็วผ่านอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถสืบค้นข้อมูลดังกล่าวได้ที่ http://tax.dtn.go.th

หากต้องการสืบค้นสถิติการค้าระหว่างไทยกับประเทศต่างๆ สามารถดูได้จากที่ใด

คำตอบ

ผู้สนใจสามารถสืบค้นข้อมูลสถิติการค้าของไทยกับประเทศต่างๆ ได้จากเว็บไซต์ของกระทรวงพาณิชย์ ที่ http://www2.ops3.moc.go.th นอกจากนี้ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ยังได้จัดทำรายงานข้อมูลสถิติการค้าของไทยกับประเทศคู่ค้าสำคัญในรูปแบบต่างๆ เช่น ภาพรวมการค้า การค้าของไทยกับประเทศคู่เจรจา/คู่ค้าสำคัญ เปรียบเทียบข้อมูลเศรษฐกิจประเทศคู่เจรจา/คู่ค้าสำคัญ เป็นต้น ซึ่งจะมีการปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันทุกเดือน

โดยสามารถดูข้อมูลดังกล่าวได้ที่ www.dtn.go.th > หน้าหลัก > ข้อมูลการค้า

ข้อตกลงที่ไทยต้องเปิดตลาดสินค้าเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นม จากการทำความตกลงการค้าเสรี ไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) และ ไทย-นิวซีแลนด์ (TNZCEP) เป็นอย่างไร

คำตอบ

ความตกลงการค้าเสรี ไทย-ออสเตรเลีย (Thailand-Australia Free Trade Agreement: TAFTA)   ลงนามเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2547 และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2548 ปัจจุบันไทยลดภาษีเป็นร้อยละ 0 ไปแล้วร้อยละ 98.97 ของจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด ในขณะที่ออสเตรเลียลดภาษีสินค้าทั้งหมดเป็นร้อยละ 0 แล้ว ความตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น ไทย-นิวซีแลนด์ (Thailand-New Zealand Closer Economic Partnership Agreement: TNZCEP) ลงนามเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2548 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2548 ปัจจุบันไทยลดภาษีเป็นร้อยละ 0 ไปแล้วร้อยละ 99.17 ของจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด ในขณะที่นิวซีแลนด์ลดภาษีสินค้าทั้งหมดเป็นร้อยละ 0 แล้ว

ภายใต้ความตกลง TAFTA และ TNZCEP สินค้านมที่มีการใช้มาตรการโควตาภาษี (Tariff Rate Quota: TRQ) ซึ่งการนำเข้าภายในโควตาจะได้รับสิทธิชำระภาษีในโควตาตามตารางการลดภาษี และจะถูกยกเลิกโควตาภาษีนำเข้าในวันที่ 31 ธันวาคม 2567 ส่วนสินค้าเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมและเนยที่มีการใช้มาตรการปกป้องพิเศษ (Special Safeguard Measure: SSG) กำหนดเพดานปริมาณการนำเข้า (Trigger Volume) โดยเก็บภาษีนำเข้าในอัตราต่ำ ส่วนปริมาณการนำเข้าที่เกินกว่าที่กำหนด สามารถเรียกเก็บภาษีในอัตราสูงกว่าจะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 กล่าวคือ จะไม่มีการกำหนดปริมาณโควตาและเพดานปริมาณการนำเข้าในสินค้าเนื้อสัตว์และนมอีกต่อไป และอัตราภาษีนำเข้าจะเป็นร้อยละ 0

การเปิดเสรีสินค้าเนื้อสัตว์และนมมีผลกระทบกับเกษตรกรอย่างไร

คำตอบ

ตามพันธกรณีความตกลง TAFTA และ TNZCEP ในวันที่ 1 มกราคม 2564 ไทยจะต้องเปิดเสรียกเลิกภาษีนำเข้าเหลือร้อยละ 0 ของเนื้อโคและเนื้อหมู และผลิตภัณฑ์นมบางรายการ (นมผงที่มีไขมัน ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของนม เนย หางนมเวย์ ไขมันเนย และเนยแข็ง) และในวันที่ 1 มกราคม 2568 ไทยจะต้องเปิดเสรีโดยลดภาษีนำเข้าเหลือร้อยละ 0 ของสินค้านมและครีมและเครื่องดื่มประเภทนมปรุงแต่ง และนมผงขาดมันเนย ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมโคนมและโคเนื้อภายในประเทศที่จะหันไปบริโภคสินค้าเหล่านี้จากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ซึ่งได้เปรียบไทยทั้งในเรื่องต้นทุนการเลี้ยง ต้นทุนการผลิต และคุณภาพ

หน่วยงานภาครัฐมีมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างไร

คำตอบ

กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีกองทุนดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดตลาดภายใต้ FTA

กระทรวงพาณิชย์มีกองทุนเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความตกลง FTA อยู่ที่กรมการค้าต่างประเทศ มีการดำเนินการตั้งแต่ปี 2550 เพื่อช่วยเหลือการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า ให้ความช่วยเหลือในรูปแบบการศึกษาวิจัยและพัฒนา การจัดหาที่ปรึกษาเพื่อช่วยเหลือในการปรับปรุงธุรกิจ การฝึกอาชีพ และการจัดอบรมเสริมสร้างให้มีความรู้เพื่อการปรับตัว จนถึงปัจจุบัน มี 56 โครงการที่ได้รับอนุมัติคิดเป็นเงินรวม 408 ล้านบาท ตัวอย่างโครงการโคนมที่ผ่านมา เช่น โครงการวิจัยและพัฒนากลไกรองรับยุทธศาสตร์ด้านการตลาดนมโคสดแท้ โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และ  บรรจุภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและพัฒนาระบบบริหารจัดการของสหกรณ์โคนมวาริชภูมิจำกัด และโครงการพัฒนานวัตกรรมการบริหารคุณภาพผลิตภัณฑ์นม

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถ   การแข่งขันของประเทศ อยู่ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร มีวัตถุประสงค์เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนา ทดลองสาธิตนำร่อง ให้ความรู้ฝึกอบรมดูงาน สนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ลงทุนก่อสร้างโรงเรือน เครื่องมือ เครื่องจักร และเงินทุนหมุนเวียนการผลิต โดยตั้งแต่ปีงบประมาณ 2549-2560    กองทุนฯ ได้อนุมัติจัดสรรเงินเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจาก FTA ไปแล้ว 25 โครงการ 10 ชนิดสินค้า ได้แก่ ข้าว ปาล์มน้ำมัน กาแฟ ชา มะพร้าว พริกไทย พืชผัก โคนม โคเนื้อ และสุกร เป็นเงิน 762.20   ล้านบาท มีเกษตรกรได้รับประโยชน์ ประมาณ 1 แสนราย ตัวอย่างโครงการโคนมที่ได้รับความช่วยเหลือ เช่น โครงการลดต้นทุนและปรับปรุงประสิทธิภาพการเลี้ยงโคนมด้วยวิธีปฏิบัติได้และเห็นผลจริง โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โครงการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มมูลค่าโคนมและผลิตภัณฑ์นมของสหกรณ์โคนม   บ้านบึงจำกัด โครงการนำร่องการเลี้ยงโคนมทดแทนในระบบชีวภาพ (หรือวัวหลุม) โครงการเพิ่มศักยภาพ    การเลี้ยงโคนมเพื่อรองรับเขตการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ และโครงการสร้างความมั่นคงทางอาหารหยาบให้กับโคนมด้วยหญ้าเนเปียร์ปากช่อง

การจัดทำความตกลงทางการค้า FTA ไทย-ตุรกี มีความคืบหน้าอย่างไร

คำตอบ

ประเทศไทยกำลังอยู่ระหว่างการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับสาธารณรัฐตุรกี โดยเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2560 ตุรกีเป็นเจ้าภาพจัดพิธีประกาศเริ่มการเจรจา FTA ไทย-ตุรกี ณ กรุงอังการา สาธารณรัฐตุรกี ทั้งนี้ ประเทศไทยมีกำหนดเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจรจาจัดทำ FTA ครั้งที่ 2 ในเดือนพฤศจิกายน 2560

การจัดทำความตกลงทางการค้า FTA ไทย-ตุรกี มีประโยชน์อย่างไร

คำตอบ

ประโยชน์ที่คาดว่าไทยจะได้รับจากการเจรจาจัดทำ FTA กับตุรกี คือ การเพิ่มโอกาสการส่งออกของไทยไปยังตลาดที่มีศักยภาพและกำลังซื้อสูง เนื่องจากตุรกีมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 19 ของโลก มีประชากรประมาณ 80 ล้านคน และมีนักท่องเที่ยวกว่า 30 ล้านคน อีกทั้ง ไทยยังสามารถใช้ตุรกีเป็นสะพานเชื่อมต่อทางการค้าไปสู่ประเทศต่างๆ ได้ อาทิ ยุโรปตะวันออก กลุ่มประเทศบอลข่าน และแอฟริกาตอนเหนือ

ความคืบหน้าการเจรจาการค้า (FTA)

คำตอบ

ปัจจุบันประเทศไทยมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่มีผลใช้บังคับแล้วกับ 17 ประเทศ ภายใต้   ความตกลง 12 ฉบับด้วยกัน ทั้งในระดับพหุภาคี ระดับภูมิภาคและระดับทวิภาคี ได้แก่ (1) FTA ระหว่างสมาชิกอาเซียน/FTA อาเซียนกับคู่ค้า 6 ประเทศ ประกอบด้วย อาเซียน-จีน อาเซียน-ญี่ปุ่น อาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี อาเซียน-อินเดีย และอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (2) FTA ระหว่างไทยกับคู่ค้า 6 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น อินเดีย (ลด/ยกเลิกภาษีสินค้าบางส่วน) ชิลี และเปรู (ลด/ยกเลิกภาษีสินค้าบางส่วน)

นอกจากนี้ ยังมีการเจรจาขยายโอกาสทางเศรษฐกิจและการค้า ดังนี้

  สรุปผล   อาเซียน-ฮ่องกง อาเซียน-ญี่ปุ่น (บริการ+ลงทุน)
  อยู่ระหว่างเจรจา   RCEP JTEPA ไทย-ปากีสถาน (เปิดตลาดสินค้าเพิ่ม) อาเซียน-จีน อาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์
  เริ่มการเจรจา   ไทย-ตุรกี
  อยู่ระหว่างการศึกษา   ไทย-อิหร่าน ไทย-บังกลาเทศ ไทย-ศรีลังกา ไทย-อิสราเอล  อาเซียน-EAEU อาเซียน-แคนาดา

ความตกลงการค้า (FTA) ในกลุ่มตะวันออกกลาง

คำตอบ

ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่ได้มีความตกลง FTA กับกลุ่มตะวันออกกลางโดยตรง แต่หากต้องการดูอัตราภาษีสามารถดูได้จากเว็บไซต์ของ www.wto.org > Trade topic > Tariffs เนื่องจากประเทศในกลุ่มดังกล่าว บางประเทศเป็นสมาชิก WTO ท่านสามารถตรวจสอบอัตราภาษีพื้นฐานได้ หรืออีกช่องทางหนึ่ง คือ สถานทูตในกลุ่มตะวันออกกลางประจำประเทศไทย

สิทธิประโยชน์ FTA แต่ละประเทศ

คำตอบ

ประเทศไทยมีความตกลงทั้งหมด 12 FTA โดยตรวจสอบข้อมูลในแต่ละ FTA ได้จากเว็บไซต์    www.dtn.go.th > FTAs

TPP
ความตกลง TPP คืออะไร

คำตอบ

ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ Trans-Pacific Partnership (TPP) เป็นความตกลงเปิดเสรีทางการค้าที่มีมาตรฐานสูง ประกอบด้วย 30 ข้อบท ครอบคลุมทั้งในด้านการเปิดตลาดการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน ประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการค้า อาทิ ทรัพย์สินทางปัญญา รัฐวิสาหกิจ นโยบายแข่งขัน แรงงาน สิ่งแวดล้อม การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและนักลงทุน และประเด็นใหม่ อาทิ     ความโปร่งใสและการต่อต้านการคอรัปชั่น วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และความร่วมมือและการเสริมสร้างศักยภาพ เป็นต้น

ความตกลง TPP มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและมีความสัมพันธ์กับไทยอย่างไร

คำตอบ

ความตกลง TPP ถือเป็นความตกลงแห่งศตวรรษที่ 21 โดยมีสมาชิก 12 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู เม็กซิโก สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนามส่วนใหญ่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วและมีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ดี สหรัฐอเมริกาได้ถอนตัวจากการเป็นสมาชิกความตกลง TPP อย่างเป็นทางการ ซึ่งมีผลแล้วเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2560 ส่งผลให้ปัจจุบันความ   ตกลง TPP มีสมาชิกอยู่ 11 ประเทศ ซึ่งกลุ่มประเทศสมาชิก TPP-11 มีขนาดตลาด 499.3 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 6.7 ของประชากรโลก มีขนาดเศรษฐกิจ (GDP) รวมถึง 9.99 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 13.28  ของขนาดเศรษฐกิจโลก

ในด้านความสัมพันธ์กับไทย ในปี 2559 ไทยมีมูลค่าการค้าประเทศสมาชิก TPP-11 รวม 123,591  ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 30.23 ของการค้าทั้งหมดของไทย เป็นมูลค่าการส่งออกจำนวน 64,678 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 30 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย ขณะเดียวกัน มีมูลค่าการนำเข้าจำนวน 58,913 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 30.3 ของการนำเข้าทั้งหมดของไทย โดยไทยได้เปรียบดุลการค้ากับ TPP-11 มูลค่า 5,765 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ทำไมประเทศไทยไม่เข้าร่วม TPP ตั้งแต่เริ่มแรก

คำตอบ

เนื่องจากความตกลง TPP เป็นความตกลงที่มีมาตรฐานสูงเกินกว่าระดับการเปิดเสรีภายใต้ FTA ของไทยทุกฉบับในขณะนั้น รวมทั้งกรอบอาเซียน ประกอบกับมีการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ทางการเมืองขณะนั้น จึงทำให้ไทยไม่ได้เข้าร่วมเจรจาความตกลง TPP ตั้งแต่เริ่มแรก

ไทยมีแนวทางการปรับตัวต่อความท้าทายใหม่ๆ เช่น ความตกลง TPP อย่างไร

คำตอบ

เนื่องจากสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจการค้าโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ไทยต้องเผชิญ และปรับตัวให้สอดคล้องกับความท้าทายใหม่ๆ เพื่อไม่ให้สูญเสียประโยชน์ที่มีอยู่ รวมทั้งสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที ดังนั้น ไทยจึงจำเป็นที่จะต้องเร่งพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยในปี 2560 ไทยถูกจัดเป็นประเทศที่มีความสามารถทางการแข่งขันอันดับที่ 27 (ยกระดับจากอันดับที่ 28 เมื่อปี 2559) ซึ่งขณะนี้ประเทศในอาเซียน ได้แก่ สิงคโปร์ (อันดับ 3) และมาเลเซีย (อันดับ 24) ต่างก็มีอันดับดีกว่าไทย

ทั้งนี้ การจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ถือเป็นเครื่องมือสำคัญทำให้ไทยต้องเร่งพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ เพื่อรองรับการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม จนสามารถบูรณาการความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกได้อย่างแข็งแกร่ง ไม่ว่าไทยจะเข้าร่วมความตกลง TPP หรือไม่ก็ตาม โดยที่ผ่านมา ไทยได้ดำเนินการยกระดับมาตรฐานทางการค้าการลงทุนผ่านการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อเสริมสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการขยายการค้าการลงทุนในประเทศ อาทิ ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเครื่องหมายการค้าและเข้าเป็นภาคีพิธีสารมาดริดว่าด้วยการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศ (ซึ่งจะมีผลในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2560) การแก้ไขปัญหางานค้างสะสมการจดทะเบียนสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า และการปรับปรุงกฎหมายลิขสิทธิ์

ทำไมไทยไม่เข้า RCEP แทน

คำตอบ

ปัจจุบัน ไทยอยู่ระหว่างการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ หรือ Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) ซึ่งประกอบด้วยประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ รวมทั้งไทยกับประเทศคู่เจรจา ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย โดยมีเป้าหมายว่า RCEP จะเป็นความตกลงที่มีมาตรฐานและเข้มข้นกว่าความตกลงการค้าเสรีที่อาเซียนได้ทำไว้เดิมกับคู่เจรจา ในขณะเดียวกันมีประเทศสมาชิก RCEP 7 ประเทศที่เป็นสมาชิกความตกลง TPP ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม จึงทำให้มาตรฐานของความตกลง TPP มีนัยยะต่อความตกลง RCEP เช่นกัน

ในการนี้ ถึงแม้ว่าจำนวนประชากรของ RCEP (3,553 ล้านคน) จะมากกว่า TPP-11 (499.3 ล้านคน)   7 เท่า และขนาดเศรษฐกิจของ RCEP (23 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ) มีมูลค่ามากกว่ากลุ่มประเทศสมาชิก TPP-11 (9.99 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ) แต่ยังมีสมาชิก TPP ที่ไทยยังไม่มีความตกลงการค้าเสรีด้วย ได้แก่ แคนาดา และเม็กซิโก ส่วนเปรูมีเฉพาะความตกลง Early Harvest สินค้าประมาณร้อยละ 70 ของรายการสินค้าทั้งหมด ดังนั้น การเข้าร่วมความตกลง TPP นอกเหนือจากการเป็นสมาชิก RCEP ในปัจจุบันของไทยจะช่วยส่งเสริมเครือข่ายการค้าที่มีขนาดใหญ่ จึงเป็นการขยายโอกาสทางการค้าระหว่างประเทศ ดึงดูดการลงทุนให้เพิ่มขึ้น และเป็นการรักษาความสามารถของไทยในระบบห่วงโซ่อุปทานโลก รวมทั้ง เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ขับเคลื่อนให้ไทยพัฒนาประเทศให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของการค้าในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะการปรับแก้ไขกฎหมายและระเบียบต่างๆ    ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล การปรับกระบวนการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ การเสริมสร้างและเพิ่มบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ มากยิ่งขึ้น

ขณะนี้ประเทศสมาชิก TPP ได้ลงนามความตกลงแล้ว หมายความว่าไทยตกขบวนรถไฟหรือไม่

คำตอบ

ถึงแม้ว่าประเทศสมาชิก TPP ได้มีการลงนามความตกลงเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2559 แต่การถอนตัวจากการเป็นสมาชิก TPP ของสหรัฐอเมริกาส่งผลให้ความตกลง TPP ไม่สามารถมีผลบังคับใช้ได้ อย่างไรก็ดี ประเทศสมาชิก TPP-11 ได้มีการประชุมหารืออย่างต่อเนื่องเพื่อหาแนวทางบังคับใช้ความตกลงดังกล่าว โดยตั้งเป้าสรุปแนวทางที่ชัดเจนในเดือนพฤศจิกายน 2560 ระหว่างการประชุมผู้นำ APEC ณ ประเทศเวียดนาม ทั้งนี้ ประเทศ TPP-11 ยืนยันจะดำเนินการให้ความตกลง TPP เป็นแบบ Comprehensive และมีมาตรฐานสูงโดยให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว เพื่อส่งเสริมการรวมกลุ่มเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคแก่สมาชิกทุกประเทศ สำหรับการรับสมาชิกใหม่ ขณะนี้ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจน โดยหากประเทศสมาชิก TPP-11 คงแนวทางการรับสมาชิกใหม่ของความตกลงต้นฉบับไว้ ประเทศที่สนใจจะเข้าร่วมความตกลงฯ จะต้องมีการหารือและได้รับความเห็นชอบจากประเทศสมาชิกทั้งหมด ดังนั้นจึงถือว่าไทยไม่ได้ตกขบวนรถไฟ แต่เป็นโอกาสของไทยที่จะใช้ช่วงเวลาในระหว่างนี้ศึกษาประโยชน์และผลกระทบของความตกลง TPP ที่มีต่อไทยและประเมินความพร้อมของทุกภาคส่วนอย่างรอบคอบต่อไป

อนุสัญญา UPOV 1991 คืออะไร และเกี่ยวข้องกับความตกลง TPP อย่างไร

คำตอบ

อนุสัญญา UPOV 1991 คืออนุสัญญาระหว่างประเทศที่มุ่งเน้นเรื่องการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่โดยให้สิทธิเด็ดขาดแก่นักปรับปรุงพันธุ์พืชในการใช้ประโยชน์จากพันธุ์พืชใหม่ที่ตนปรับปรุง เพื่อจูงใจให้นักปรับปรุงพันธุ์คิดค้นพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ ซึ่งเป็นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาทางด้านพืช มีความเกี่ยวข้องกับความตกลงการค้ายุคใหม่ที่มีมาตรฐานสูงหลายฉบับ อาทิ TPP และ TTIP เนื่องจากภายใต้ข้อบททรัพย์สินทางปัญญาของความตกลง TPP กำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญา UPOV 1991 ด้วย ส่วนความตกลง TTIP กำหนดให้ภาคีมีกฎหมายการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่สอดคล้องกับอนุสัญญา UPOV 1991

ปัจจุบัน UPOV 1991 มีสมาชิกทั้งหมด 74 ประเทศ ในจำนวนนี้มี 28 ประเทศที่เป็นประเทศกำลังพัฒนา โดยในอาเซียนมี 2 ประเทศ ได้แก่ เวียดนามและสิงคโปร์ เป็นสมาชิกของอนุสัญญาฉบับนี้ ขณะที่มาเลเซีย บรูไน อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ได้แสดงความจำนงที่จะเข้าร่วมอนุสัญญานี้ ส่วนประเทศไทยยังไม่ได้เป็นสมาชิกของอนุสัญญาฉบับนี้

การที่บอกว่าเกษตรกรไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้ในฤดูกาลถัดไปนั้น ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

คำตอบ

อนุสัญญา UPOV 1991 กำหนดเป็นทางเลือกให้ประเทศสมาชิกสามารถกำหนดบัญชีรายชื่อ    พันธุ์พืชที่เกษตรกรสามารถเก็บไว้ใช้เพาะปลูกในฤดูกาลถัดไป โดยเกษตรกรยังสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้เพาะปลูกในพื้นที่ของตนเอง ต่อยอดการปรับปรุงพันธุ์ ศึกษา วิจัยและใช้เพื่อการอื่นใดนอกเหนือจากเพื่อประโยชน์ในทางการค้า ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายในการกำหนดบัญชีรายชื่อพืชที่เกษตรกรสามารถเก็บไว้ได้ในอนาคต โดยจะต้องคำนึงถึงวัฒนธรรมการเกษตรของไทย โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย จึงมั่นใจได้ว่าเกษตรกรจะยังคงเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้ในฤดูกาลถัดไปได้

เกษตรกรยังคงแบ่งปันผลประโยชน์กันได้หรือไม่

คำตอบ

อนุสัญญา UPOV 1991 ไม่มีข้อห้ามในเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์ ประเทศสมาชิกยังสามารถกำหนดให้มีการแบ่งปันผลประโยชน์ภายใต้กฎหมายของตนเอง ปัจจุบันไทยมี พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ซึ่งกำหนดหลักการแบ่งปันผลประโยชน์ให้เกษตรกรอยู่แล้ว

อนุสัญญา UPOV 1991 จะทำให้ราคาเมล็ดพันธุ์แพงขึ้นเนื่องจากการผูกขาดเมล็ดพันธุ์ของบริษัทรายใหญ่จริงหรือไม่

คำตอบ

ราคาเมล็ดพันธุ์พืชจะขึ้นอยู่กับกลไกตลาดของธุรกิจเมล็ดพันธุ์ซึ่งเกี่ยวข้องกับคุณภาพและความต้องการของผู้บริโภค ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรได้จัดตั้งศูนย์เมล็ดพันธุ์เพื่อพัฒนาเมล็ดพันธุ์ให้มีคุณภาพดี มีผลผลิตต่อไร่สูง (ทำน้อยได้มาก) และแจกจ่ายให้ถึงมือเกษตรกรในราคาที่ถูก ซึ่งจะเป็นการเพิ่มทางเลือกและลดต้นทุนทางการผลิตให้แก่เกษตรกร

เกษตรกรจะได้ประโยชน์อย่างไรจาก UPOV 1991

คำตอบ

อนุสัญญา UPOV 1991 เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาและปรับปรุงเมล็ดพันธุ์ให้มีคุณภาพสูงขึ้น สร้างผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น และเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้เกษตรกรมีทางเลือกในการใช้พันธุ์พืชที่หลากหลายมากขึ้น ตลอดจนทำให้เกิดการแข่งขันในตลาดเมล็ดพันธุ์มากขึ้นอีกด้วย

ภายใต้ UPOV 1991 เกษตรกรจะไม่สามารถนำผลผลิตของพืชไปแปรรูปเพื่อจำหน่ายได้จริงหรือ

คำตอบ

UPOV 1991 ให้สิทธิเกษตรกรสามารถซื้อเมล็ดพันธุ์พืชที่ได้รับการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ไปเพาะปลูกและจำหน่ายผลผลิตได้ รวมทั้งแปรรูปผลผลิตให้เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่ายได้โดยไม่ขัดต่ออนุสัญญาฯ เช่น ซื้อเมล็ดพันธุ์สตรอเบอรี่ไปเพาะปลูกและสามารถจำหน่ายผลสตรอเบอรี่ รวมทั้งสามารถนำผลสตรอเบอรี่ไปทำแยมเพื่อจำหน่ายได้ เนื่องจากเกษตรกรได้ซื้อสิทธิจากนักปรับปรุงพันธุ์เพื่อนำไปเพาะปลูกอย่างถูกต้องตามหลักการคุ้มครองเมล็ดพันธุ์ จึงถือว่าเกษตรกรได้สิทธิอย่างครบถ้วนแล้ว (exhaustive right) และสามารถนำผลผลิตและผลิตภัณฑ์แปรรูปมาจำหน่ายได้

นักปรับปรุงพันธุ์ต่างชาติสามารถนำพันธุ์พืชพื้นเมืองหรือพันธุ์พืชท้องถิ่นของไทยไปจดทะเบียนคุ้มครองได้จริงหรือไม่

คำตอบ

การจดทะเบียนพันธุ์พืชพื้นเมืองและพันธุ์พืชท้องถิ่นไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเป็นพืชที่สามารถพบและเข้าถึงได้โดยทั่วไป จึงทำให้ขาดคุณสมบัติในการเป็นพันธุ์พืชใหม่ อีกทั้งการนำพันธุ์พืชพื้นเมืองหรือพันธุ์พืชท้องถิ่นไปทดลองหรือวิจัยต้องขออนุญาตจากกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก่อน และต้องทำข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์หากจะนำพืชดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในทางการค้าตามมาตรา 52 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542

พันธุ์พืชพื้นเมืองหรือพันธุ์พืชท้องถิ่นของไทยจะสูญหายจากการนำไปปรับปรุงพันธุ์โดยต่างชาติจริงหรือไม่

คำตอบ

ภาครัฐได้จัดตั้งธนาคารเชื้อพันธุ์พืชแห่งชาติ (The National Genebank of Thailand) ซึ่งเป็นศูนย์เก็บรักษาพันธุกรรมทางพืช เพื่อรวบรวมและอนุรักษ์พันธุ์พืชท้องถิ่นของไทยที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เนื่องจากภัยธรรมชาติ การระบาดของโรคและแมลง รวมถึงเป็นแหล่งเก็บรักษาพันธุ์พืชเศรษฐกิจและพืชพันธุ์ดี ที่ให้ผลผลิตสูง นอกจากนี้ ภาครัฐยังจัดตั้งศูนย์เมล็ดพันธุ์ เพื่อให้มีเมล็ดพันธุ์คุณภาพดีเป็นทางเลือกแก่เกษตรกร

ความตกลง TPP ทำให้มีการนำเข้าพืช GMOs มาในไทย

คำตอบ

อนุสัญญา UPOV 1991 ไม่มีข้อกำหนดใดๆ ในเรื่องนี้ ประกอบกับไทยมี พ.ร.บ. กักพืช พ.ศ. 2507 ที่ไม่อนุญาตให้มีการนำเข้าพืช GMOs อยู่แล้ว ยกเว้นถั่วเหลืองและข้าวโพดเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ นอกจากนี้ พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 กำหนดชัดเจนว่าพันธุ์พืชใหม่ที่ได้จากการปรับปรุงพันธุ์พืช GMOs ไม่สามารถจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ในไทยได้ ส่วนความตกลง TPP กำหนดเพียงให้ประเทศสมาชิกเผยแพร่ข้อมูลมาตรการคุ้มครองไม่ให้มีการปนเปื้อนของพืช GMOs เท่านั้น แต่ไม่ได้กำหนดให้มีการเปิดตลาด GMO

เงื่อนไขการเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาบูดาเปสต์ภายใต้ความตกลง TPP

เงื่อนไขการเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาบูดาเปสต์ภายใต้ความตกลง TPP จะทำให้มีการนำจุลชีพหรือจุลินทรีย์ซึ่งเป็นส่วนประกอบของสารปรับปรุงดินไปจดสิทธิบัตร และส่งผลให้เกษตรกรไทยไม่สามารถนำมาใช้ในการเกษตรได้จริงหรือไม่

คำตอบ

การจดสิทธิบัตรจุลินทรีย์สามารถทำได้ตามความตกลง TRIPs ภายใต้ WTO ที่ประเทศไทยเป็นภาคีอยู่แล้ว การเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาบูดาเปสต์ตามเงื่อนไขภายใต้ความตกลง TPP เป็นเพียงการยอมรับศูนย์เก็บจุลินทรีย์ระหว่างประเทศ เพื่อใช้ข้อมูลของศูนย์ดังกล่าวประกอบการจดสิทธิบัตรเท่านั้น ส่วนจุลชีพหรือจุลินทรีย์ที่มีอยู่ตามธรรมชาติไม่สามารถนำไปจดทะเบียนได้ เนื่องจากเป็นสิ่งที่พบได้ทั่วไปตามธรรมชาติ

AEC 2025 อะไรจะเกิดขึ้นกับประเทศไทย และจะปรับตัวอย่างไร

คำตอบ

แผนงานของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) 2025 อีก 10 ปีข้างหน้า ส่วนใหญ่เป็นการสานต่อจาก AEC blueprint 2015 ซึ่งเน้นการทำอาเซียนให้เป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว โดยการเปิดเสรี 5 ด้านด้วยกันคือ การค้าสินค้า การค้าภาคบริการ การลงทุน การเคลื่อนย้ายเงินทุน การเคลื่อนย้ายแรงงานมีฝีมือ อีกทั้งทุกรัฐบาลในประเทศสมาชิกอาเซียนได้ให้ความสำคัญและปรับตัวในเรื่องของการส่งเสริมประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางและอาเซียนกับการเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาคเป็นต้น

อนุสัญญา UPOV 1991 กำหนดให้ใช้การตรวจสอบ DNA ของพืช ในการตรวจสอบพันธุ์พืชใหม่จริงหรือไม่

คำตอบ

อนุสัญญา UPOV 1991 และ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ของไทยไม่ได้กำหนดให้ใช้การตรวจ DNA ของพืชในการตรวจสอบการเป็นพันธุ์พืชใหม่ แต่กำหนดให้ตรวจสอบโดยการปลูกเปรียบเทียบระหว่างพันธุ์พืชที่มีอยู่เดิมกับพันธุ์พืชที่ยื่นขอจดทะเบียนเป็นพันธุ์พืชใหม่ ซึ่งต้องปรากฎความแตกต่างและสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของพันธุ์พืชใหม่

สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) คืออะไร

คำตอบ

สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication) หรือ GI คือ เครื่องหมายที่ใช้กับสินค้าที่มาจากแหล่งผลิตที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งคุณภาพหรือชื่อเสียงของสินค้านั้นๆ จะมีเอกลักษณ์เนื่องจากมีการผลิตในพื้นที่ที่มีความเฉพาะ ดังนั้น GI เป็นเหมือนแบรนด์ของชุมชนที่บ่งบอกคุณภาพและแหล่งที่มาของสินค้า หรืออาจกล่าวได้ว่า เป็นการรับรองว่าสินค้านั้นมาจากที่ไหน มีลักษณะ และคุณภาพอย่างไร

ทั้งนี้ ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ GI สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ : https://www.ipthailand.go.th/th/gi-008.html

ปัจจุบันไทยมีกฎหมายในการคุ้มครอง GI หรือไม่

คำตอบ

ไทยมีกฎหมายคุ้มครอง GI เนื่องจากไทยเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก ทำให้ไทยต้องปฏิบัติตามความตกลง TRIPs ซึ่งกำหนดให้มีกฎหมายในการคุ้มครอง GI เฉพาะ โดยกฎหมายในการคุ้มครอง GI ของไทย คือ พ.ร.บ.คุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ. 2546

ทำไมต้องมีการออกกฎหมายคุ้มครอง GI

คำตอบ

เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนเกิดความสับสนเกี่ยวกับแหล่งภูมิศาสตร์ของสินค้า โดย GI ที่ขอรับความคุ้มครองนั้นจะต้องมีชื่อที่เป็นสัญลักษณ์ หรือสิ่งที่ใช้เรียกแทนแหล่งภูมิศาสตร์ ซึ่งสามารถบ่งบอกว่าได้ว่าสินค้าที่เกิดจากแหล่งภูมิศาสตร์นั้นเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ชื่อเสียง หรือคุณลักษณะเฉพาะ

หลักเกณฑ์ในการขึ้นทะเบียน GI

คำตอบ

การขึ้นทะเบียน GI จะต้องเป็นชื่อที่เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคและมีการกล่าวถึงหรือใช้กันมาแล้ว ไม่ใช่สิ่งที่สามารถคิดขึ้นใหม่เพื่อนำมาขอขึ้นทะเบียนได้  และผู้มีสิทธิใช้ GI ภายใต้กฎหมาย คือ ผู้ผลิตสินค้าที่อยู่ในท้องถิ่นนั้นและผู้ประกอบการค้าที่เกี่ยวกับสินค้านั้น (ไม่ใช่เฉพาะแต่ผู้ขึ้นทะเบียน) โดยผู้ที่อยู่ในพื้นที่เท่านั้นที่มีสิทธิ์ในความเป็นเจ้าของร่วมกัน ดังนั้น ผู้อยู่ในพื้นที่จึงต้องร่วมกันรักษาคุณภาพมาตรฐานของ GI ในพื้นที่ของตน เพื่อคงไว้ซึ่งชื่อเสียงและอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น

GI สามารถเพิกถอนหรือแก้ไขได้หรือไม่ อย่างไร

คำตอบ

GI สามารถเพิกถอนและแก้ไขได้ หากมีการขึ้นทะเบียนโดยมิชอบ หรือสภาพแวดล้อมของพื้นที่ทางธรรมชาติมีความเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลกระทบต่อคุณลักษณะพิเศษ หรือคุณภาพของสินค้า นอกจากนี้หากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ พ.ร.บ.ได้กำหนดไว้ก็จะสามารถระงับการใช้ตราสัญลักษณ์ GI ได้เช่นกัน

ประโยชน์ของการขึ้นทะเบียน GI คืออะไร

คำตอบ

  1. คุ้มครองชื่อสินค้าและสิทธิของชุมชนไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง
  2. เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับสินค้าชุมชน และเพิ่มความสามัคคีในการพัฒนาท้องถิ่น
  3. สนับสนุนการท่องเที่ยวและชุมชนผู้ผลิตอย่างยั่งยืน
  4. เสริมสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้าจากแหล่งที่มาและเอกลักษณ์เฉพาะจากแหล่งภูมิศาสตร์
  5. เพิ่มมูลค่าสินค้า และจะช่วยสนับสนุนให้สินค้าก้าวสู่ระดับสากล
หากไทยเข้าร่วมความตกลง TPP จะมีผลต่อ GI ของไทยอย่างไร

คำตอบ

ขณะนี้ไทยให้ความคุ้มครอง GI โดยกฎหมายเท่านั้น หากไทยเข้าร่วมความตกลง TPP จะต้องให้ความคุ้มครอง GI โดยระบบเครื่องหมายการค้าด้วย ซึ่งเป็นการเพิ่มทางเลือกให้แก่เจ้าของ GI ทั้งไทยและต่างชาติ ที่จะเลือกได้ว่าต้องการรับความคุ้มครองตามกฎหมายใด

ชาวต่างชาติสามารถนำ GI ของไทยไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ได้หรือไม่

คำตอบ

         1) กรณีที่ชาวต่างชาตินำ GI ของไทย (เช่น ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้) ไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในต่างประเทศ เป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้แม้จะไม่มีความตกลง TPP เพราะกฎหมายบางประเทศก็เปิดโอกาสให้สามารถนำ GI ไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม หากมีผู้นำ GI ไทยไปจดทะเบียนโดยมิชอบ ไทยก็สามารถไปคัดค้านหรือขอเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ประกอบด้วย GI ได้ โดยต่อสู้ว่าเครื่องหมายดังกล่าว ไม่ได้แสดงถึงแหล่งที่มาที่แท้จริงของสินค้าและจะทำให้สาธารณชนเข้าใจผิดในแหล่งที่มาที่แท้จริงของสินค้าตามหลักการของ WTO

        2) กรณีที่ชาวต่างชาตินำ GI ของไทยมาจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในไทย ปัจจุบันทำไม่ได้ เพราะกฎหมายเครื่องหมายการค้าปัจจุบันห้ามจดทะเบียน GI ที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย GI อยู่แล้ว เป็นเครื่องหมายการค้า ทั้งนี้ แม้การเข้าร่วม TPP จะทำให้ไทยต้องปรับปรุงระบบเครื่องหมายการค้าโดยเปิดโอกาสให้สามารถนำ GI ไปจดทะเบียนตามระบบเครื่องหมายการค้าได้ด้วย แต่ก็สามารถป้องกันมิให้ชาวต่างชาตินำ GI ของไทยไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ โดยตรวจสอบว่าผู้ที่มาขอจดทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิ/เป็นเจ้าของ GI ที่แท้จริงหรือไม่

สินค้า GI และสินค้า OTOP แตกต่างกันอย่างไร

คำตอบ

OTOP เป็นสินค้าประจำท้องถิ่นที่แสดงถึงภูมิปัญญา แต่ไม่จำเป็นต้องมีเอกลักษณ์ความเชื่อมโยงกับแหล่งภูมิศาสตร์ และจะไม่มีการขึ้นทะเบียนคุ้มครองชื่อสินค้าตามกฎหมาย ในขณะที่ GI จำต้องมีเอกลักษณ์ที่เชื่อมโยงกับแหล่งภูมิศาสตร์ มีคุณภาพ และมีชื่อเสียง รวมทั้ง GI จะต้องมีระบบการขึ้นทะเบียน มีข้อกำหนดการควบคุมคุณภาพที่ชัดเจน มีการคุ้มครองชื่อสินค้าตามกฎหมาย หากมีการละเมิดสามารถดำเนินคดีทางกฎหมายได้

FTA Center
ความตกลงการค้า (FTA) ในกลุ่มตะวันออกกลาง

คำตอบ

ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่ได้มีความตกลง FTA กับกลุ่มตะวันออกกลางโดยตรง แต่หากต้องการดูอัตราภาษีสามารถดูได้จากเว็บไซต์ของ www.wto.org > Trade topic > Tariffs เนื่องจากประเทศในกลุ่มดังกล่าว บางประเทศเป็นสมาชิก WTO ท่านสามารถตรวจสอบอัตราภาษีพื้นฐานได้ หรืออีกช่องทางหนึ่ง คือ สถานทูตในกลุ่มตะวันออกกลางประจำประเทศไทย

สิทธิประโยชน์ FTA แต่ละประเทศ

คำตอบ

ประเทศไทยมีความตกลงทั้งหมด 12 FTA โดยตรวจสอบข้อมูลในแต่ละ FTA ได้จากเว็บไซต์    www.dtn.go.th > FTAs

อัตราภาษีสินค้าต่างๆ สามารถหาข้อมูลได้อย่างไร

คำตอบ

อันดับแรกต้องรู้พิกัดสินค้าที่ต้องการก่อน โดยเข้าไปที่เว็บไซต์ http://www.thailandntr.com/ หัวข้อ.1. พิกัดศุลกากร หลังจากนั้น พิมพ์สินค้าลงในช่องคำสำคัญ และจะได้พิกัดสินค้า เพื่อนำไปตรวจสอบกับตารางข้อผูกพัน

การตรวจสอบพิกัดสินค้านำเข้า-ส่งออก

คำตอบ

สามารถดูได้จากเว็บไซต์  http://www.thailandntr.com >  1. พิกัดศุลกากร หลังจากนั้น พิมพ์สินค้าลงในช่องคำสำคัญ และจะได้พิกัดสินค้า

ข้อมูลสถิติการค้าระหว่างไทยกับประเทศต่างๆ สามารถค้นหาได้จากที่ใด

ตำตอบ

สามารถหาข้อมูลได้จากเว็บไซต์  www.moc.go.th > บริการของกระทรวง > สถิติการค้าระหว่างประเทศของไทย

เงื่อนไขการลงทุนของประเทศในกลุ่ม CLMV สามารถค้นหาได้จากที่ใด

คำตอบ

สามารถหาข้อมูลได้จากเว็บไซต์ http://www.dtn.go.th/ > การศึกษาวิจัย/เอกสารเผยแพร่ >     สื่อสิ่งพิมพ์ > อาเซียน > รอบรู้เรื่องการลงทุนในอาเซียน

การค้าระหว่างประเทศของไทยกับประเทศคู่เจรจา FTA ปี 2564 (ม.ค.-เม.ย.)
รายการสินค้าอ่อนไหวในอาเซียน (Sensitive List) ของแต่ละประเทศมีอะไรบ้าง

คำตอบ

1) สินค้าอ่อนไหวในอาเซียน (Sensitive List)

ประเทศไทย   กาแฟ มันฝรั่ง มะพร้าวแห้ง ไม้ตัดดอก
ประเทศบรูไน   กาแฟ ชา
ประเทศกัมพูชา   เนื้อไก่ ปลามีชีวิต ผักผลไม้บางชนิด พืชบางชนิด
ประเทศลาว   สัตว์มีชีวิต เนื้อโคกระบือ สุกร ไก่ ผักผลไม้บางชนิด ข้าว ยาสูบ
ประเทศมาเลเซีย   สัตว์มีชีวิตบางชนิด เนื้อสุกร ไก่ ไข่ พืชบางชนิด ผลไม้บางชนิด ยาสูบ
ประเทศพม่า   ถั่ว กาแฟ น้ำตาล ไหม ฝ้าย
ประเทศฟิลิปปินส์   สัตว์มีชีวิตบางชนิด เนื้อสุกร ไก่ มันสำปะหลัง ข้าวโพด
ประเทศเวียดนาม   สัตว์บางชนิด เนื้อไก่ไข่ พืชบางชนิด เนื้อสัตว์ปรุงแต่ง น้ำตาล
ประเทศสิงคโปร์   ไม่มีรายการสินค้าอ่อนไหว
ประเทศอินโดนีเซีย   ไม่มีรายการสินค้าอ่อนไหว

วิธีตรวจสอบโควตาสินค้านำเข้า-ส่งออก

คำตอบ

สำหรับโควตาสินค้านำเข้า-ส่งออก สามารถดูข้อมูลได้จากเว็บไซต์ กรมการค้าต่างประเทศ http://www.dft.go.th

หากต้องการทราบรายชื่อผู้นำเข้า-ส่งออก

คำตอบ

ต้องเข้าสมัครเป็นสมาชิกของสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์โดยเข้าเว็บไซต์

http://www.moc.go.th > บริการของกระทรวงพาณิชย์ > สถิติการค้าระหว่างประเทศของไทย > รายชื่อผู้นำเข้า-ส่งออก > สมัครสมาชิก

อื่นๆ
การค้าและสิ่งแวดล้อมภายใต้ WTO มีประโยชน์อย่างไร

คำตอบ

ปัจจุบัน ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศพัฒนาแล้วได้พยายามนำเรื่องสิ่งแวดล้อมมาใช้เป็นมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีอีกประการหนึ่ง ทั้งนี้ เพราะผู้บริโภคทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมและให้ความสำคัญมากขึ้นในหลายๆ ด้านรวมไปถึงการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าด้วย จึงส่งผลให้สิ่งแวดล้อมมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น ทั้งในการผลิตและการค้าสินค้า WTO เองก็ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้เช่นกัน โดยได้มีประเด็นการเจรจาอยู่ 3 เรื่อง คือ

  1. ความสัมพันธ์ระหว่างกฎเกณฑ์ WTO กับมาตรการการค้าภายใต้ความตกลงสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ
  2. กระบวนการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างฝ่ายเลขาธิการของความตกลงพหุภาคีเรื่องสิ่งแวดล้อมต่างๆ (Multilateral Environmental Agreements : MEAs) และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมของ WTO และหลักเกณฑ์ในการให้สถานะผู้สังเกตการณ์แก่ MEAs
  3. ลดหรือยกเลิกมาตรการภาษีและมาตรการที่มิใช่ภาษีสำหรับสินค้าและบริการด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งประเด็นสุดท้ายนี้เป็นประเด็นที่ประเทศสมาชิกให้ความสำคัญมากที่สุด เนื่องจากสามารถเห็นผลในเชิงรูปธรรมได้ชัดเจน ที่ผ่านมา ในการเจรจาเรื่องสิ่งแวดล้อมภายใต้ WTO ประเทศสมาชิกมีความต้องการที่แตกต่างกันไม่ว่าจะเป็นเรื่องในการให้คำจำกัดความของสินค้า สิ่งแวดล้อมหรือวิธีการลดภาษีประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะสหภาพยุโรปได้พยายามผลักดันให้มีการเจรจาเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะต้องการรักษาสภาพแวดล้อมไปพร้อมกับขยายการค้า และให้มีการปฏิบัติที่เท่าเทียมกันในการรักษาสิ่งแวดล้อมของโลก ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนามีข้อจำกัดในหลายๆ ด้าน เช่น ยังไม่มีการพัฒนาเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมและยังไม่มีกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวด อีกทั้งยังเกรงว่าประเทศพัฒนาแล้ว อาจใช้เรื่องสิ่งแวดล้อมมาเป็นข้ออ้างในการกีดกันการค้า จึงทำให้การเจรจาไม่สามารถตกลงกันได้จนถึงปัจจุบันนี้ และยังคงเป็นเรื่องที่ต้องมีการเจรจากันต่อไป
คดีสำคัญที่ไทยฟ้องชนะใน WTO มีอะไรบ้าง

คำตอบ

การต่อสู้กับประเทศใหญ่ในกรณีที่ประเทศเหล่านั้นมีการใช้มาตรการที่บิดเบือนการค้า ซึ่งไทยได้รับประโยชน์ และชนะคดีที่ประเทศอื่นๆ กีดกันการค้าในหลายกรณี เช่น

กรณีพิพาทไก่หมักเกลือ

ไทยได้ร่วมกับบราซิล ยื่นฟ้องสหภาพยุโรปต่อ WTO กรณีที่สหภาพยุโรป เปลี่ยนประเภทพิกัดอัตราศุลกากรของสินค้าไก่หมักเกลือเป็นสินค้าไก่แช่แข็ง ทำให้ผู้ส่งออกไทยต้องเสียภาษีเพิ่มมากขึ้นจากเดิมร้อยละ 15 เป็นร้อยละ 53 รวมภาษีที่ต้องเสียเพิ่มขึ้นประมาณปีละ 3,500 ล้านบาท ซึ่งองค์กรอุทธรณ์ของ WTO ได้ตัดสินให้ไทยชนะคดี ทำให้สหภาพยุโรปต้องลดภาษีนำเข้าไก่หมักเกลือลงมาที่อัตราเดิม

กรณีพิพาท C-Bond และ Zeroing

ไทยได้ดำเนินการฟ้องร้องสหรัฐอเมริกา กรณีที่สหรัฐฯ เรียกเก็บเงินประกันภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้ากุ้งแช่แข็งจากไทยหรือ C-bond และใช้มาตรการ Zeroing เพื่อคำนวณส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาด เป็นการกีดกันทางการค้าและขัดกับกฎเกณฑ์ของ WTO โดยผู้ส่งออกกุ้งแช่แข็งของไทยกว่าครึ่งหยุดการส่งออก เนื่องจากผู้ส่งออกสินค้ากุ้งแช่แข็งของไทยต้องวางประกันสูงขึ้นกว่าเดิมประมาณปีละ 1,370 ล้านบาท มาตรการดังกล่าวจึงสร้างภาระให้ผู้ส่งออกไทยเป็นอย่างมาก และองค์กรอุทธรณ์ได้ตัดสินให้ไทยชนะคดีเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2551

กรณีพิพาทน้ำตาล

ไทยร่วมกับบราซิลและออสเตรเลียฟ้องสหภาพยุโรปต่อ WTO ว่าสหภาพยุโรปให้การอุดหนุนส่งออกน้ำตาลเกินกว่าที่ WTO อนุญาตถึง 3.5 ล้านตัน หรือคิดเป็นมูลค่าการอุดหนุนส่งออกสูงกว่าที่ผูกพันไว้ประมาณ 32,000 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ ในปี 2545 ไทยได้รับความเสียหายจากการอุดหนุนส่งออกน้ำตาลของสหภาพยุโรปเป็นเงินประมาณ 6,500 ล้านบาท องค์กรระงับข้อพิพาทของ WTO ได้ตัดสินให้ฝ่ายไทยชนะคดีดังกล่าว ส่งผลให้สหภาพยุโรปต้องลดการอุดหนุนส่งออกน้ำตาลลงเหลือไม่เกินปีละ 1.27 ล้านตัน หรือคิดเป็นมูลค่าการอุดหนุนส่งออกไม่เกินมูลค่า 499 ล้านยูโรต่อปี ตามที่ได้ผูกพันไว้ใน WTO ทำให้ไทยซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 3 ของโลกสามารถส่งออกน้ำตาลได้ในปริมาณและราคาที่สูงขึ้น

ลําดับขั้นการฟ้องร้องคดี ใน WTO เป็นอย่างไร

คำตอบ

กลไกระงับข้อพิพาทของ WTO เปรียบเสมือนศาลการค้าระหว่างประเทศ ทําหน้าที่พิจารณาข้อพิพาททางการค้าระหว่างสมาชิก WTO และมีบทลงโทษกรณีภาคีที่ถูกตัดสินว่าทําผิดกฎเกณฑ์ของ WTOและไม่ยอมปฏิบัติตามคําตัดสิน กลไกระงับข้อพิพาทของ WTO ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายจากประเทศสมาชิก เห็นได้จากจํานวนกรณีพิพาทที่ได้มีการนําเข้าสู่กระบวนการดังกล่าวกว่า 500 คดี นับตั้งแต่ก่อตั้ง WTO ในปี 2538 จนถึงปัจจุบัน

ซึ่ง WTO กำหนดกระบวนวิธีที่ชัดเจนสำหรับการระงับข้อพิพาทภายใต้ Understanding on Rules and Procedures Governing the settlement of Disputes หรือที่เรียกกันว่า DSU ผู้ที่สามารถใช้สิทธิฟ้องร้องใน WTO ได้ จะต้องเป็นรัฐบาลของประเทศสมาชิกเท่านั้นโดยประเทศสมาชิกที่เห็นว่าตนเสียประโยชน์เพราะประเทศสมาชิกอื่นไม่ยอมปฏิบัติตามความตกลง WTO DSU กำหนดให้ประเทศคู่กรณีต้องปรึกษาหารือกันก่อนเพื่อหาทางยุติข้อพิพาท แต่หากไม่สามารถตกลงกันได้ประเทศที่ได้รับความเสียหายก็สามารถขอตั้งคณะผู้พิจารณาซึ่งทําหน้าที่เหมือนศาลเพื่อให้ตัดสินคดีได้

โดยที่การฟ้องร้องของ WTO มี 2 ลําดับขั้น คือ การฟ้องคดีต่อคณะผู้พิจารณา (Panel)  ซึ่งเปรียบเสมือนศาลการค้าของโลก และองค์กรอุทธรณ์ (Appellate  Body) ซึ่งเปรียบเสมือนศาลสูง  คณะพิจารณาจะทําหน้าที่พิจารณาและตัดสินคดี หากประเทศคู่กรณีไม่อุทธรณ์       คําตัดสินของคณะผู้พิจารณา สมาชิก WTO ก็จะรับรองคําตัดสินดังกล่าวและถือว่าคําตัดสินนั้นเป็นที่สุดและมีผลผูกพันคู่กรณี เว้นแต่ สมาชิกทั้งหมดจะมีฉันทามติ (consensus) ไม่รับรองคําตัดสิน ซึ่งเกิดขึ้นได้ยากมาก แต่หากประเทศคู่กรณีไม่เห็นด้วยกับคําตัดสินของคณะผู้พิจารณา ก็สามารถอุทธรณ์ต่อองค์กรอุทธรณ์ได้โดยประเทศที่แพ้คดีจะต้องยกเลิกการกระทําที่ถูกตัดสินว่าขัดกับความตกลง WTO ทันทีหรือภายในระยะเวลาที่กําหนด

หากการเจรจารอบโดฮาสําเร็จ และมีผลบังคับใช้ไทยคาดว่าจะได้ประโยชน์อย่างไรบ้าง ความสําคัญของการเจรจาต่อประเทศไทย

คำตอบ หากการเจรจาสามารถได้ข้อยุติได้โดยเร็ว ผลประโยชน์สําคัญที่ไทยจะได้รับ คือ

  • โอกาสการเปิดตลาดจะมีมากขึ้น  เนื่องจากอัตราภาษีนําเข้าจะลดลง โดยเฉพาะในสินค้าสําคัญๆ ของประเทศคู่ค้าหลักทั้งสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าเกษตร เนื่องจากในปัจจุบัน อัตราภาษีนําเข้ายังอยู่ในอัตราที่สูง เช่น สหรัฐฯ สินค้ารองเท้า 60%  สิ่งทอ 30% อาหารทะเลกระป๋อง 20 % ญี่ปุ่น สินค้าข้าว 1,000 % แคนาดา เนื้อไก่ 150 % เกาหลี มันสําปะหลัง 887 % ไต้หวัน นํ้าตาล 143 % เป็นต้น ดังนั้น หากภาษีนําเข้าลดลง โอกาสในการขยายตลาดสินค้าของไทยในตลาดหลักจะมีมากขึ้นอย่างชัดเจน นอกจากนี้ จะทําให้ไทยมีโอกาสเปิดตลาดใหม่ โดยเฉพาะประเทศกําลังพัฒนาในกลุ่มแอฟริกา ลาตินอเมริกา และเอเซีย เนื่องจากประเทศกําลังพัฒนาในกลุ่มเหล่านี้ ยังมีอัตราภาษีเฉลี่ยในระดับที่สูงมาก โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพ อาทิ สินค้าอิเลคโทรนิกส์  สิ่งทอ เครื่องประดับ
  • ด้านการแข่งทางการค้าจะมีความเป็นธรรม  เนื่องจากปัจจัยที่ก่อให้เกิดการบิดเบือนทางการค้าจะลดลงหรือหมดไป โดยเฉพาะการอุดหนุนการผลิตสินค้าภายใน และการสนับสนุนการส่งออกของสินค้าเกษตรซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสําคัญของไทย โดยมี
    • การอุดหนุนภายใน
      • (1) ข้าว : สหภาพฯ 556 ล้านยูโร สหรัฐฯ 607 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
      • (2) นํ้าตาล : สหภาพฯ 5,800 ล้านยูโร สหรัฐฯ 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
    • การสนับสนุนการส่งออก
      • (1) ข้าว : สหภาพฯ 30 ล้านยูโร สหรัฐฯ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
      • (2) นํ้าตาล : สหภาพฯ 400 ล้านยูโร
      • (3) ไก่ : สหภาพ และ สหรัฐฯ 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ทั้งนี้ การอุดหนุนภายในและการสนับสนุนการส่งออก เป็นการก่อให้เกิดการบิดเบือนทางการค้าอันส่งผลให้ผลผลิตสินค้าเกษตรในตลาดโลกมีมาก และก่อให้เกิดภาวะราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกตกตํ่า ผลคือ สินค้าเกษตรของไทยจะไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างที่ควร

  • โอกาสที่คนไทยจะสามารถเดินทางไปทํางานหรือดําเนินธรุกิจในต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะในสาขาที่ไทยมีความสามารถในการแข่งขัน เช่น บริการด้านสุขภาพ ความงาม สปา ร้านอาหาร และโรงแรม เป็นต้น
TFA ภายใต้ WTO คือความตกลงอะไร มีรายละเอียดอย่างไร เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยหรือไม่ อย่างไร

คำตอบ

ความตกลงด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า (Agreement on Trade Facilitation : TFA) เป็นหัวข้อหนึ่งในการเจรจาการค้ารอบโดฮา (Doha Development Agenda: DDA) ที่สมาชิก WTO ให้บรรจุ TFA ใน DDA เมื่อเดือนกรกฎาคม 2547 เพื่อลดความไม่สะดวกด้านการนำเข้า-ส่งออกสินค้า และได้ผนวก  ความตกลง TFA เข้าเป็นส่วนหนึ่งของ Annex 1 A ในความตกลง WTO และได้มีผลบังคับใช้กับสมาชิก WTO ทั้งหมด ตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2560 เป็นต้นมา

ความตกลงด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า มีสาระสำคัญ คือ การระบุบทบัญญัติให้ประเทศสมาชิกปฏิบัติเพื่อให้เกิดการอำนวยความสะดวกในการนำเข้า ส่งออกสินค้า เช่น การเผยแพร่กฎระเบียบ    ทั้งมวลที่จำเป็นในการนำเข้า ส่งออก และผ่านแดน การจัดทำคำวินิจฉัยล่วงหน้าสำหรับการจำแนกพิกัดศุลกากรและการประเมินราคาศุลกากร โดยแบ่งเป็นบทบัญญัติที่สามารถปฏิบัติได้ทันที (Category A) บทบัญญัติที่ต้องการระยะเวลาปรับตัวก่อนการปฏิบัติ (Category B) และบทบัญญัติที่สมาชิกต้องได้รับความช่วยเหลือก่อนจึงจะปฏิบัติตาม (Category C)

โดยไทยได้จัดการดำเนินการตาม Category A แล้วทั้งหมด 131 บทบัญญัติ เช่นบทบัญญัติข้อ 1 ที่เกี่ยวกับการจัดพิมพ์และเผยแพร่ข้อมูลเรื่องพิธีการนำเข้า ส่งออก และผ่านแดน รวมถึงอัตราค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ในส่วน Category B ซึ่งไทยยังต้องการใช้เวลาในการปรับตัว (3-7 ปี) มีทั้งหมด 12 บทบัญญัติเป็นเรื่องเกี่ยวกับ การเปิดโอกาสให้ทำการตรวจซ้ำ (second test) ในกรณีที่สินค้าอาหาร เครื่องดื่มและอาหารสัตว์ที่นำเข้าไม่ผ่านมาตรฐานการตรวจคุณภาพในการตรวจครั้งแรก และการเปิดโอกาสให้มีการยื่นบัญชีสินค้าทางเรือได้ล่วงหน้าก่อนที่เรือสินค้าจะมาถึง (ไทยไม่มีบทบัญญัติใน Category C)

TFA เป็นประโยชน์กับไทยเนื่องจากเป็นแรงผลักดันจากภายนอกให้มีการปรับปรุงแก้ไขระเบียบในประเทศ แก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าที่ผู้ส่งออกไทยประสบในตลาดต่างประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของไทย การเป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนในภูมิภาค การสร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการค้าและ  การลงทุน

ความตกลง ATIGA คืออะไร

คำตอบ

ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ASEAN Trade in Goods Agreement: ATIGA) มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2553 มีข้อบทครอบคลุมประเด็นต่างๆ เช่น การลดภาษี กฎถิ่นกำเนิดสินค้า มาตรการที่มิใช่ภาษี การอำนวยความสะดวกทางการค้า กระบวนการศุลกากร มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช และมาตรการเทคนิคที่เป็นอุปสรรคทางการค้าและการเยียวยาทางการค้า เป็นต้น โดยมีคณะมนตรีเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area Council: AFTA Council) ประกอบด้วยผู้แทนในระดับรัฐมนตรีจากประเทศสมาชิกอาเซียน ทำหน้าที่รับผิดชอบดูแลการดำเนินการตามความตกลงฯ

ระบบ NTR , ATR และ ASSIST คืออะไร

คำตอบ

ระบบ NTR คือ คลังข้อมูลทางการค้าของไทย (Thailand’s National Trade Repository: NTR) ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลด้านการค้าสินค้าระหว่างประเทศของไทยที่จะอำนวยความสะดวกทางการค้าให้แก่ผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจการค้ากับประเทศไทยได้โดยง่าย ณ จุดเดียว ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ประกอบด้วยข้อมูล 9 ประเภทได้แก่

1) พิกัดศุลกากร
2) อัตราอากรศุลกากรนำเข้าทั่วไป และอัตราอากรศุลกากรภายใต้ ATIGA และ ASEAN FTAs
3) กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า
4) กฎระเบียบด้านมาตรการที่มิใช่ภาษี
5) กฎหมาย กฎระเบียบทางการค้าและศุลกากร
6) กฎระเบียบการดำเนินการด้านการค้าและเอกสารสำคัญ
7) คำสั่งทางปกครอง
8) วิธีปฏิบัติที่ดีที่สุดในการอำนวยความสะดวกทางการค้า
9) รายชื่อผู้ประกอบการค้าที่ได้รับการรับรองโดยประเทศสมาชิกอาเซียน

ปัจจุบันสามารถเข้าใช้งานได้ผ่านเว็บไซต์ www.thailandntr.com โดยให้ข้อมูลทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยระบบ NTR ของแต่ละประเทศอาเซียนจะเชื่อมโยงไปยังระบบ ATR ซึ่งเป็นคลังข้อมูลทางการค้าของอาเซียน (ASEAN Trade Repository: ATR) สามารถเข้าใช้งานได้ผ่านเว็บไซต์ atr.asean.org

นอกจากนี้ ระบบ ATR ได้เชื่อมต่อไปยังระบบ ASSIST (assist.asean.org) ซึ่งเป็นระบบ internet-based facility เพื่ออำนวยความสะดวกให้ภาคธุรกิจ และเป็นช่องทางให้สามารถร้องเรียนเพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาการค้าสินค้าในกรอบอาเซียนที่ภาคธุรกิจประสบ โดยการใช้งานระบบ ASSIST จะเริ่มจากผู้ประกอบการลงทะเบียนใช้งาน (พร้อมหมายเลขทะเบียนบริษัทที่จดทะเบียนในอาเซียน) และส่งข้อร้องเรียน (complaint) มายังระบบฯ ซึ่งมีสำนักเลขาธิการอาเซียน (ASEAN Secretariat: ASEC) เป็นผู้ดูแล หากการร้องเรียนมีข้อมูลครบถ้วน ASEC จะส่งข้อร้องเรียนต่อไปยังผู้ประสานงานของประเทศสมาชิก เพื่อพิจารณาประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และส่งความเห็น/ข้อเสนอแนะตอบกลับผ่านระบบฯ ไปยังผู้ร้องเรียน ทั้งนี้ ระบบฯกำหนดระยะเวลาดำเนินการโดยรวมไม่เกิน 40 วันทำการ และขยายได้ไม่เกิน 20 วัน นับตั้งแต่วันที่ผู้ประกอบการยื่นข้อร้องเรียน หากพ้นจากนั้น ระบบฯ จะเตือนและแสดงสัญลักษณ์ (red light) ว่ามีความล่าช้าเกิดขึ้น ทั้งนี้ ระบบ NTR, ATR และ ASSIST เป็นเครื่องมือในการรับมือกับมาตรการ NTMs เนื่องจากช่วยเพิ่มความโปร่งใส และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs เข้าถึงข้อมูลได้สะดวกรวดเร็ว ไม่มีค่าใช้จ่าย และช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศสมาชิกด้วย

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศยินดีให้บริการ
ติดต่อ FTA Call Center
02 507-7555
เว็บไซต์ที่น่าสนใจ :

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ  :  DTN Website  I  Intranet  I  DTN KM  I  FTA

จำนวนการเข้าชม : 455,901